top of page
ความเป็นมาของ TSFC
สถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์

สถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ หรือ Securities Finance Corporation : SFC  คือสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจหลักทรัพย์ ทำหน้าที่สนับสนุนพัฒนาการของธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุน มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านหลักทรัพย์ มีความพร้อมในการรับหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน สามารถผลักดันให้ธุรกรรมต่างๆ ในธุรกิจหลักทรัพย์เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

 

ปัจจุบัน ประเทศที่มีการก่อตั้ง SFC ได้แก่

  1. ประเทศญี่ปุ่น

  2. ประเทศเกาหลี

  3. ประเทศจีน

  4. ประเทศไทย

 

แนวคิดเรื่องการก่อตั้ง SFC ในประเทศไทย

ในช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ตลาดการเงินไทยเกิดภาวะตึงตัวอย่างรุนแรง ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการชั่วคราวหลายประการเพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ เช่น การก่อตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน และกองทุนแก้ไขปัญหาธุรกิจหลักทรัพย์ ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นอกจากมาตรการระยะสั้นแล้ว ควรมีมาตรการระยะยาวเพื่อพัฒนาตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง ควรจัดตั้งองค์กรพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาตลาดทุน รวมถึง องค์กรที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจหลักทรัพย์โดยเฉพาะ

การศึกษาเรื่องการก่อตั้ง SFC ในประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนี่อง จนกระทั่งเมื่อมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ธุรกิจหลักทรัพย์ขยายตัวอย่างกว้างขวาง มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่อง ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เริ่มต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการประกอบธุรกิจ ภาครัฐจึงได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนใน แผนพัฒนาระบบการเงินปี พ.ศ. 2538-2543 ให้มีการก่อตั้ง SFC ขึ้นในประเทศไทย

การก่อตั้ง TSFC

SFC ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการผลักดันอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีปัจจัยที่เป็นแรงกระตุ้นสองปัจจัย ได้แก่

  1. การแยกธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากธุรกิจเงินทุน ภายหลังจากที่ได้ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการ กลต. ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์เป็นการเฉพาะ ภาครัฐได้แยกธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากธุรกิจเงินทุนตามแนวคิดที่ว่า ธุรกิจเงินทุนไม่ควรระดมเงินฝากจากประชาชนมาใช้ในธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งมีความเสี่ยงมาก เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ถูกแยกออกจากบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์เริ่มประสบปัญหาแหล่งเงินทุน ภาครัฐจึงประสงค์ให้ TSFC เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับบริษัทหลักทรัพย์

  2. แหล่งเงินทุนที่เข้าใจในธุรกิจหลักทรัพย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2536 บริษัทหลักทรัพย์ใช้เงินทุนไปกับการให้เงินกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan) เป็นปริมาณมาก มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ขยายตัวต่อเนื่อง บริษัทหลักทรัพย์ต้องการเงินทุนเพื่อการชำระราคาในปริมาณมาก ในขณะที่การกู้เงินจากธนาคารโดยใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ในนามของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จึงขอความร่วมมือจากภาครัฐให้ก่อตั้งสถาบันการเงินที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจหลักทรัพย์ ยินดีที่จะรับหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน และพร้อมที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์

 

สองปัจจัยดังกล่าวเป็นแรงผลักดันในการก่อตั้ง SFC เป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2539 มีชื่อว่า บริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด หรือ TSFC Securities Company Limited โดยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อดำเนินภารกิจในการเป็นแหล่งเงินทุนและเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์อย่างยั่งยืน

 

© 2014 บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน)

bottom of page